ต่อเติมบ้าน งบไม่บานปลาย
การรีโนเวทและต่อเติมบ้าน เป็นกิจกรรมที่มักเกิดขึ้นในบ้านเก่า บ้านที่ผ่านการใช้งานมานานหลายปี ทั้งบ้านเก่าที่อยู่อาศัยเดิมและบ้านเก่าที่เพิ่งซื้อใหม่มือสอง ซึ่งทั้งสองกรณีนี้อาจมีเหตุผลที่แตกต่างกัน แต่เหตุผลหลัก ๆ แล้ว เจ้าของบ้านต้องการทำบ้านให้น่าอยู่ สวยงามและมีฟังก์ชันที่ตอบรับกับการอยู่อาศัยในยุคปัจจุบัน
แม้ว่างานรีโนเวทต่อเติม จะเป็นงานขนาดเล็กเมื่อเทียบกับงานก่อสร้างบ้านทั้งหลัง แต่เมื่อขึ้นชื่อว่างานก่อสร้างแล้ว จำเป็นต้องมีกระบวนการที่ต้องวางแผน เพื่อให้เกิดการทำงานอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะมีผลกับงบประมาณที่ใช้ในการต่อเติมด้วยครับ เนื้อหานี้ “บ้านไอเดีย” นำลำดับขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อให้ผู้อ่านสามารถรีโนเวท ต่อเติมบ้านได้อย่างประหยัดเวลา ประหยัดงบประมาณมากยิ่งขึ้นได้
สนับสนุนเนื้อหาโดย : ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
ไอเดียต่อเติมห้องนั่งเล่นข้างบ้าน
1. ลองใช้ ลองอยู่ไปก่อน
ในกรณีบ้านที่อยู่อาศัยเดิม เจ้าของบ้านย่อมรู้ความต้องการอย่างแท้จริงแล้ว แต่สำหรับท่านที่ซื้อบ้านเก่ามือสอง แรกเริ่มเมื่อเห็นบ้านเสื่อมโทรม ย่อมต้องมีจินตนาการในการปรับรีโนเวทไว้มากมาย แต่หากต้องการประหยัดงบในการรีโนเวท แนะนำให้ทดลองอยู่จริงไปสักระยะก่อนครับ เพราะเมื่อทดลองอยู่จริงไปสักระยะแล้ว บางจุดที่ต้องการรีโนเวทในแรกเริ่ม อาจยังสามารถใช้งานได้ดีไม่จำเป็นต้องรีโนเวทอีกต่อไป หรืออาจมีบางจุดที่บกพร่อง แต่ยังไม่เห็นในตอนแรก การลองอยู่จริงเป็นเสมือนการรอให้เห็นปัญหาที่แท้จริง จะได้ทำการรีโนเวทพร้อมกันในครั้งเดียวครับ
2. ให้วิศวกรมาประเมินหน้างาน
การปรับปรุงเล็ก ๆ เจ้าของบ้านอาจหาช่างทั่วไปมาทำให้ได้ แต่หากการปรับปรุงต่อเติมดังกล่าวมีผลกับโครงสร้าง จำเป็นต้องติดต่อหาวิศวกรมาประเมินโครงสร้างก่อนเสมอ มิเช่นนั้นอาจเกิดอันตรายถึงชีวิตได้ โดยวิศวกรจะทำหน้าที่ประเมินความแข็งแรงของโครงสร้างเดิม รวมทั้งการวิเคราะห์คำนวณการรับน้ำหนักส่วนต่อเติมใหม่ เพื่อหากระบวนการต่อเติมที่เหมาะสมในโจทย์งานนั้น ๆ ในขั้นตอนนี้หากเจ้าของบ้านมีแบบบ้านเดิม จะช่วยให้การตรวจสอบสะดวกและแม่นยำยิ่งขึ้น กรณีซื้อบ้านมือสองมา จึงควรขอแบบบ้านจากเจ้าของเดิมไว้ด้วยนะครับ
3. ขออนุญาตและกฎหมายที่ต้องรู้
สิ่งที่เจ้าของบ้านต้องรู้ เมื่อมีการต่อเติมพื้นที่ใช้สอยใด ๆ ที่มีเสา คาน ตั้งแต่ 5 ตร.ม. ขึ้นไป จำเป็นต้องขออนุญาตต่อเติมจากหน่วยงานท้องถิ่นนั้น ๆ เสมอ โดยการต่อเติมจะอิงกฎหมายเดียวกับการขออนุญาตก่อสร้าง ทั้งการเว้นระยะร่น การเปิดช่องแสง ช่องลม ความสูงของอาคารและพื้นที่ว่างในบริเวณที่ดินของแปลงนั้น ๆ
อย่างไรก็ตามแม้จะมีกฎหมายควบคุม แต่การต่อเติมจริงเจ้าของบ้านส่วนใหญ่มักละเลยที่จะขออนุญาต สิ่งที่ต้องระมัดระวังคือ หากการต่อเติมนั้นส่งผลกระทบกับการอยู่อาศัยของเพื่อนบ้าน และเป็นการต่อเติมที่ละเมิดต่อกฎหมาย เพื่อนบ้านมีสิทธิ์ที่จะร้องเรียนได้ ซึ่งหากเกิดคดีความขึ้นมา ผู้ต่อเติมอาจได้รับโทษทั้งจำและปรับ และอาจถูกสั่งรื้อ ทุบทิ้ง ในส่วนที่ผิดกฎหมาย เพราะฉะนั้นทำให้ถูกต้องก่อน ย่อมดีที่สุดครับ
4. ติดต่อว่าจ้างผู้รับเหมา
เมื่อให้สถาปนิกและวิศวกรทำการประเมินหน้างานและออกแบบเรียบร้อยแล้ว เจ้าของบ้านนำแบบต่อเติมดังกล่าวให้ผู้รับเหมาประเมินราคาก่อสร้าง โดยเอกสารสำคัญที่ต้องมีคือสัญญาการว่าจ้าง พร้อมกับให้ผู้รับเหมาจัดทำรายการแสดงวัสดุและค่าแรงก่อสร้าง (BOQ) เพื่อที่จะได้แจกแจงรายการต่าง ๆ อย่างชัดเจน เอกสารสำคัญเหล่านี้จะช่วยป้องกันการเกิดปัญหาภายหลังได้ครับ
นอกจากนี้เจ้าของบ้านจำเป็นต้องพูดคุยกับผู้รับเหมาให้ชัดเจนก่อนว่าจ้าง เพราะบ่อยครั้งที่เจ้าของบ้านต้องพบเจอกับผู้รับเหมาที่บอกไม่หมด ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ภายหลัง เป็นเหตุให้งบประมาณที่กำหนดไว้แรกเริ่มบานปลายได้ และเมื่อตกลงราคากันได้แล้ว ให้ทำการนัดหมายผู้รับเหมาไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะหากต้องการใช้บริการผู้รับเหมาคุณภาพดี ย่อมต้องมีคิวงานแน่นเสมอครับ
5. เตรียมพื้นที่ก่อนเริ่มงาน
การต่อเติมที่ชิดขอบเขตที่ดิน พรบ.ควบคุมอาคาร อนุญาตให้สามารถต่อเติมชิดขอบเขตที่ดินได้มากถึง 50 เซนติเมตร หรือ สามารถชิดขอบเขตที่ดินได้กรณีมีเพื่อนบ้านเซ็นรับรองให้ แต่การทำงานจริง ช่างจำเป็นต้องใช้พื้นที่ในการทำงาน เจ้าของบ้านจึงจำเป็นต้องวางแผนเส้นทางการทำงาน เพื่อไม่ให้งานต่อเติมนั้น ๆ มีผลกระทบกับเพื่อนบ้านหรือมีผลกระทบกับส่วนอื่น ๆ ที่เจ้าของบ้านยังอยู่อาศัย
6. แจ้งเพื่อนบ้าน และนิติบุคคลโครงการ
ทุก ๆ การก่อสร้าง ย่อมมีผลกระทบกับเพื่อนบ้านเสมอ ทั้งผลกระทบด้านเสียง ฝุ่น และการสัญจรอื่น ๆ หากต้องการต่อเติมใด ๆ ผู้เป็นเจ้าของบ้านควรแจ้งให้เพื่อนบ้านข้างเคียงได้ทราบทุกครั้ง การแจ้งนอกจากจะเป็นการขออนุญาตในการรบกวนแล้ว ยังช่วยผูกมิตรไว้กับเพื่อนบ้าน เพื่อนบ้านจะทราบว่าเรากำลังทำอะไร ระยะเวลากี่วัน
ในกรณีบ้านอยู่ภายในโครงการจัดสรร นอกจากบ้านข้างเคียงแล้วจำเป็นต้องแจ้งนิติบุคคลโครงการ เพื่อให้นิติบุคคลทราบถึงการเข้ามาของบุคคลภายนอก ทั้งผู้รับเหมา รถขนส่งวัสดุก่อสร้าง บางโครงการจะมีกฎระเบียบควบคุมอย่างชัดเจน เช่น อนุญาตให้ทำงานได้ในช่วงเวลา 8.00 – 17.00 น. เท่านั้น หรือ งดดำเนินงานก่อสร้างในช่วงวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ เพราะจะกระทบกับการพักผ่อนของบ้านข้างเคียง เจ้าของบ้านจึงจำเป็นต้องดูกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อวางแผนงานร่วมกับผู้รับเหมาครับ
7. ขอสินเชื่อ เมื่อพร้อม
การต่อเติมและรีโนเวทบ้าน มักมีค่าใช้จ่ายมากถึงหลักแสน หลักล้าน ผู้อ่านหลายท่านจึงเลือกวิธีขอสินเชื่อเพื่อจะได้เกิดสภาพคล่องทางการเงิน บ้านไอเดียนำหัวข้อนี้ไว้ท้ายสุด เพื่อต้องการให้ผ่านกระบวนการต่าง ๆ ทั้งหมดก่อน ถึงจะค่อยวางแผนสินเชื่อ เพราะหากขอสินเชื่อไว้ตั้งแต่แรกเริ่ม ระยะเวลาในการดำเนินงานต่าง ๆ อาจล่าช้าได้ หากขอสินเชื่อไว้ก่อนที่จะดำเนินการต่าง ๆ จะส่งผลให้ผู้ขอสินเชื่อชำระดอกเบี้ยไปโดยเปล่าประโยชน์ ส่งผลให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงขึ้น การขอสินเชื่อเมื่อกระบวนการต่าง ๆ พร้อมแล้ว จึงช่วยให้ผู้กู้จ่ายดอกเบี้ยน้อยลงครับ
และอีกหนึ่งสิ่งที่ควรตรวจสอบก่อนขอสินเชื่อ คือ จำนวนเงินที่เราต้องการกู้ มีอัตราดอกเบี้ยต่อระยะเวลาในการผ่อนชำระเท่าไรและในแต่ละงวดเราต้องผ่อนเท่าไร โดยสามารถคำนวณการผ่อนชำระสินเชื่อส่วนบุคคลก่อนได้ เป็นการวางแผนอย่างรอบคอบ เพื่อความสอดคล้องกับสถานะการเงิน จะได้ผ่อนอย่างสบายใจในทุก ๆ เดือน ขอบคุณที่มา : บ้านไอเดีย
ความคิดเห็น