ราวกันตก ป้องกันเด็กตก
จากประเด็นข่าวเด็กพลัดตกเนื่องด้วยปีนราวกันตกภายในอาคารแห่งหนึ่ง กลายเป็นเรื่องขวัญผวาสำหรับผู้เป็นพ่อแม่และหลาย ๆ ครอบครัวที่ต้องดูแลเด็ก ผู้เขียนเข้าใจดีว่า การดูแลเด็กวัยนี้เป็นเรื่องที่ยาก บ่อยครั้งผู้ดูแลก็อาจจะเหนื่อยล้า ประจวบกับความประมาทไว้ใจเด็ก ทำให้ไม่ทันระมัดระวัง ไม่ทันได้เฝ้ามองพฤติกรรมเสี่ยง กระทั่งก่อให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด จะว่าไปแล้วเหตุการณ์เหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรกครับ แต่เคยเกิดขึ้นซ้ำแล้ว ซ้ำอีก จึงเกิดคำถามขึ้นว่า ในด้านสถาปัตยกรรมการออกแบบนั้น พอจะมีหนทางใดช่วยป้องกันได้บ้าง บ้านไอเดียจึงได้สอบถามไปยังนักออกแบบเพจ Punplan จึงนำคำตอบต่าง ๆ มาสรุปให้แฟนเพจบ้านไอเดียอ่านกันต่อครับ
เนื้อหา : อภิสิทธิ์ สุธาประดิษฐ์
การออกแบบอาคารสถานที่ต่าง ๆ โดยปกติสถาปนิกจะมุ่งเน้นออกแบบให้เกิดความสวยงามและความปลอดภัยไปพร้อม ๆ กัน ด้านความปลอดภัยจะมี พรบ.ควบคุมอาคาร กำหนดขนาดสัดส่วนต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการอยู่อาศัยเบื้องต้น แต่การทำตาม พรบ. ควบคุมอาคารทั้งหมด ก็ไม่ได้เป็นคำตอบการันตีได้ว่าจะปลอดภัย 100% โดยเฉพาะบ้านที่มีเด็กเล็กอายุ 1-7 ขวบ เด็กในวัยกำลังคลาน กำลังฝึกเดิน ฝึกปีนป่าย ผู้ปกครองจำเป็นต้องดูแลบุตรหลาน ให้คำแนะนำตักเตือน พร้อมกับมองหาจุดเสี่ยงเพื่อปิดช่องโหว่ต่าง ๆ ที่จะก่อให้เกิดอุบัติเหตุภายในบ้าน
ราวกันตกสูงกว่า 110 เซนติเมตรขึ้นไป
สำหรับบ้านทั่วไปที่ไม่มีเด็ก อาจจะออกแบบราวกันตกให้สูงอย่างน้อย 90 เซนติเมตรได้ครับ แต่สำหรับบ้านที่มีเด็ก จำเป็นต้องเผื่อความสูงไว้เพื่อป้องกันการปีนป่าย ราวกันตกควรมีความสูงระยะ 110-150 เซนติเมตร ซึ่งจะเป็นระยะที่เด็กวัยซนปีนป่ายได้ยาก โดยความสูงเฉลี่ยเด็ก 7 ขวบ เด็กที่สูงมากจะสูงประมาณ 120-135 เซนติเมตร หากราวบันไดสูงเพียง 90 เซนติเมตร อาจจะง่ายต่อการปีนป่ายได้ครับ
ราวกันตกแบบโปร่ง ควรใช้ลูกกรงแนวตั้ง
วัสดุสำหรับทำราวกันตก สามารถเลือกใช้ได้หลากหลาย ทั้งงานไม้ เหล็ก กระจก แต่สำหรับบ้านที่มีเด็ก แนะนำให้ออกแบบเป็นลูกกรงเหล็กวางเรียงลักษณะแนวตั้ง และไม่มีแนวขวางใดมาเป็นส่วนยึดโครง เพราะลูกกรงแนวตั้งเด็กจะไม่สามารถใช้เท้าค้ำปีนป่ายได้ ในขณะที่ลูกกรงเหล็กแนวนอนจะกลายเป็นฐานไว้สำหรับปีนป่าย และควรเว้นความถี่ของเหล็กไม่เกิน 12 เซนติเมตร เพื่อป้องกันเด็กเล็ก เด็กผอม สามารถลอดตัวเข้าไปในช่องระหว่างลูกกรง
เพิ่มตาข่ายกันเด็กให้ราวกันตก
สำหรับบ้านที่สุ่มเสี่ยงต่อความปลอดภัย อาทิ มีราวกันตกที่ต่ำเกินไป ความห่างของช่องกรงเหล็กกว้างเกินไป เด็กสามารถลอดผ่านได้ หรือครอบครัวที่ต้องอยู่อาศัยภายในคอนโดมิเนียมที่มีระเบียง แนะนำให้ติดตั้งตาข่ายป้องกันไว้ชั่วคราวครับ ข้อดีของตาข่ายคือสามารถติดตั้งได้ง่ายและถอดออกได้เมื่อเด็กเริ่มโตขึ้น ตัวอย่างภาพด้านล่างนี้ ทำการติดตั้งให้ทั้งราวบันได ราวกันตกระเบียง หรือกรณีอยู่อาศัยในที่สูงอย่างคอนโดมิเนียม สามารถติดตาข่ายได้ทั้งช่อง แต่ควรเป็นตาข่ายสีขาวหรือสีดำนะครับ เพราะเป็นสีที่พรางตา มองไม่เห็นจากระยะไกล และควรติดให้แข็งแรง ดูเป็นระเบียบ มิเช่นนั้นอาจผิดระเบียบคอนโดได้ครับ
การมีสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้นมาในครอบครัว อาจไม่ได้แค่เพียงเตรียมห้องไว้ให้ลูก เตรียมปัจจัยอำนวยความสะดวกต่าง ๆ แต่ยังหมายถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อป้องกันความเสี่ยงต่าง ๆ เพื่อให้เด็กสามารถมีพัฒนาการไปพร้อมกับความปลอดภัย ในมุมของผู้ออกแบบเอง หากจุดไหนสามารถป้องกันความเสี่ยงได้หรือการออกแบบบ้านที่มีเด็กเล็ก จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญกับงานออกแบบที่เสริมสร้างความปลอดภัยให้กับผู้อยู่อาศัย อย่าลืมแชร์ต่อเนื้อหานี้ให้กับเพื่อนของเราที่มีเด็กอยู่ในบ้านนะครับ
ขอบคุณที่มา : www.banidea.com
Comments