5 จุดต้องเช็คก่อนติดตั้งฝ้าเพดาน
การสร้างบ้านหนึ่งหลังมีรายละเอียดจุดเล็กจุดน้อยที่ต้องให้ความใส่ใจมากมาย ตั้งแต่หลังคาถึงฐานราก ด้วยความที่เป็นงานใหญ่ผู้เป็นเจ้าของอาจจะรู้สึกว่า “บ้าน” เป็นเรื่องไกลตัว ต้องใช้ความรู้เฉพาะทาง จึงปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้รับเหมาและช่าง ซึ่งในความเป็นจริงนั้น แม้ช่างและผู้รับเหมาจะมีความรู้เชี่ยวชาญกว่าเจ้าของบ้าน แต่ไม่มีใครที่จะรักบ้านของเราได้มากยิ่งกว่าเจ้าของบ้านเองแน่นอน
คงจะดีกว่าถ้าเจ้าของบ้านพอจะมีความรู้เกี่ยวกับบ้านเอาไว้บ้าง เพื่อสามารถตรวจสอบได้ว่า งานก่อสร้างแต่ละจุดเป็นไปตามมาตรฐานงานที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะจุดที่ค่อนข้างลับตาอย่างบนฝ้าเพดาน ซึ่งจะมีงานระบบต่าง ๆ ซ่อนไว้และมีฝ้าปิดทับไว้อีกที ก่อนที่ช่างจะมาลงมือติดตั้งเจ้าของบ้านควรเช็คความเรียบร้อยของพื้นที่ใต้หลังคาให้ดี เพราะหากช่างทำการปิดฝ้าแล้วมีปัญหาภายหลัง แม้จะมีช่อง Service ก็ย่อมเป็นการยากมากที่จะแก้ไขให้สวยงามได้เช่นเดิม เนื้อหานี้ “บ้านไอเดีย” รวบรวม 5 จุดเช็คลิสต์ที่เจ้าของบ้านควรตรวจสอบก่อนที่ช่างจะเริ่มขั้นตอนติดตั้งฝ้าเพดานครับ
1. เช็คงานเดินสายไฟ
บนเพดานเป็นจุดสูงสุดของบ้านที่ช่างมักจะทำจุดพักไฟฟ้าไว้ใต้เพดาน เพื่อความเรียบร้อยไม่มีสายไฟระโยงระยางในตัวบ้านให้เกิดอันตราย และสามารถไล่เช็คแก้ไขวงจรได้ง่าย จากการสำรวจพบว่า ผู้รับเหมาหรือโครงการบ้านหลาย ๆ แห่ง ทำการเดินสายไฟแบบเปลือยทั้งหมดไม่ได้ร้อยสายไฟไว้ในท่อ ซึ่งอันตรายมากครับ เพราะสายไฟเสี่ยงต่อการถูกสัตว์กัดแทะหรือชำรุดได้ง่าย จะทำให้ไฟรั่วและเกิดไฟฟ้าลัดวงจร จนเป็นสาเหตุให้เกิดไฟไหม้สร้างความเสียหายกับชีวิตและทรัพย์สินได้
ดังนั้นก่อนจะติดตั้งฝ้าเพดาน เจ้าของบ้านควรตรวจเช็คว่าสายไฟมีท่อร้อยสายห่อหุ้มไว้เรียบร้อยหรือไม่ กรณีการเดินสายไฟฟ้าภายในอาคารด้วยวิธีร้อยสายไฟในท่อและเดินท่อไว้บนฝ้าเพดาน ควรใช้ท่อพีวีซี (PVC, Polyvinyl Chloride) สำหรับงานระบบไฟฟ้าเท่านั้น (ท่อสีเหลือง) มาตรฐานการผลิตอุตสาหกรรม เลขที่ มอก. 216-2524 มีคุณสมบัติทนความชื้น ไม่ขึ้นสนิม ทนความร้อนได้ 60 องศาเซลเซียล จุดที่ต่อสายไฟฟ้าต้องอยู่ใน junction box เท่านั้น ไม่ควรต่อสายไฟฟ้าในท่อร้อยสายไฟหรือตำแหน่งอื่นๆ
2. เช็คจุดรั่วซึมห้องน้ำชั้นบน หลังคาและท่อแอร์
ข้อนี้เป็นจุดสังเกตสำหรับบ้านที่มี 2 ชั้นขึ้นไป ซึ่งมักจะมีปัญหาน้ำรั่วซึมจากห้องน้ำชั้นบนและไหลลงสู่ฝ้าเพดาน ทำให้เกิดร่องรอยน้ำและนำมาสู่ปัญหาฝ้าถล่มได้ จึงต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าไม่มีร่องรอยการรั่วซึมหรือมีความชื้นใด ๆ ที่สามารถสร้างความเสียหายให้กับฝ้าเพดานในอนาคต วิธีการทดสอบการรั่วซึมจากห้องน้ำ ทำด้วยการปิดปากช่องระบายน้ำแล้วเทน้ำขังไว้ จากนั้นลองสังเกตว่า มีรอยหยดน้ำบริเวณพื้นชั้นล่างหรือไม่ ถ้ามีแสดงว่ามีการรั่วซึม ต้องรีบหาต้นเหตุและแก้ไข นอกจากจุดรั่วซึมจากห้องน้ำแล้ว ยังมีจุดอื่น ๆ ที่มีส่วนทำให้ฝ้าเสียหายได้ เช่น การรั่วซึมจากขอบผนัง, หน้าต่าง, หลังคาบ้าน, การรั่วซึมจากงานระบบต่าง ๆ อาทิ ท่อแอร์, ท่อระบบประปา, ท่อระบายน้ำเสีย เป็นต้น
3. เช็ควัสดุโครงคร่าวฝ้าเพดาน
โครงคร่าว คือ โครงที่เตรียมไว้สำหรับติดตั้งวัสดุฝ้าเพดาน ประกอบด้วย โครงบน (โครงคร่าวหลัก) และอาจจะมีโครงล่าง (โครงคร่าวซอยหรือโครงรอง) ช่วยเสริมความแข็งแรงตามระยะการติดตั้งมาตรฐาน เจ้าของบ้านจึงต้องมั่นใจว่าโครงคร่าวและอุปกรณ์ต่าง ๆ ใช้วัสดุที่ได้รับมาตรฐานการผลิตอุตสาหกรรม (มอก.) เพื่อป้องกันปัญหาการแอ่นตัวหรือตกท้องช้าง โดยให้ตรวจเช็คสเปควัสดุและระยะห่างของโครงคร่าวจากแบบก่อสร้าง โดยทั่วไปโครงคร่าวหลักมีระยะประมาณ 1-1.2 เมตร และโครงคร่าวรองระยะห่างประมาณ 0.4 เมตร ทั้งนี้อุปกรณ์และวัสดุโครงคร่าวควรถูกออกแบบมาเพื่อใช้งานร่วมกันโดยเฉพาะทั้งระบบ ตั้งแต่ชุดแขวน เช่น พุกเหล็ก ฉากยึดใต้ท้องพื้น ลวดแขวน สปริงปรับระดับ และอุปกรณ์ล็อกต่าง ๆ อาทิ คลิปล็อคโครง ขอล็อคโครง ซึ่งสามารถตรวจสอบได้จากตราปั๊มบนผลิตภัณฑ์
4. เช็คความสูงและแบบฝ้า
อาจจะเรียกได้ว่าเป็นจุดสำคัญสำหรับเจ้าของบ้านหลาย ๆ หลังก็ว่าได้ เจ้าของบ้านบางท่านได้กำหนดสเปคความสูงฝ้าเพดานไว้แล้วว่าควรสูงเท่าไหร่ เช่น ฝ้าเพดานห้องนอนสูง 2.6-2.8 เมตร ฝ้าเพดานห้องนั่งเล่นสูง 2.8-3.5 เมตร หลังจากช่างทำการติดตั้งโครงคร่าวไว้เรียบร้อยแล้ว หากต้องการความมั่นใจในระยะความสูง เจ้าของบ้านสามารถตรวจเช็คความสูงฝ้าเพดานแต่ละจุดได้ในขั้นตอนนี้ โดยวัดจุดเริ่มต้นที่พื้นห้องและจุดปลายที่โครงคร่าวฝ้าเพดาน จะได้ความสูงที่ใกล้เคียงกับความสูงของฝ้าเพดานครับ หรือหากจุดใดของฝ้ามีการออกแบบลักษณะพิเศษ เช่น ฝ้าซ่อนไฟหรือฝ้าหลุม ให้พูดคุยกับช่างอีกครั้ง เพื่อทบทวนความเข้าใจที่ตรงกันอีกรอบ ย่อมเพิ่มความรอบคอบยิ่งขึ้นครับ 5. ติดตั้งฉนวนกันความร้อนในขั้นตอนทำฝ้า
กรณีที่บ้านชั้นเดียวหรือบ้านสองชั้น ต้องการเพิ่มฉนวนป้องกันความร้อนให้บ้าน สามารถเพิ่มเข้าไปได้ในขั้นตอนก่อนติดตั้งฝ้าเพดานได้เลยครับ เพราะสะดวกกว่าการติดตั้งหลังปิดฝ้าเพดานไปแล้ว ซึ่งช่างต้องขึ้นผ่านช่องฝ้าทีบาร์หรือช่องเซอร์วิสบนฝ้าฉาบเรียบ เพื่อนำฉนวนกันความร้อนไปติดตั้ง อย่างไรก็ตามขอแนะนำว่าควรร้อยสายไฟในท่อให้เรียบร้อยก่อน เพราะงานฉนวนในบางผลิตภัณฑ์จะไม่รับติดตั้งในกรณีไม่ร้อยสายไฟ เนื่องจากต้องวางฉนวนเอาไว้ใต้สายไฟ หากไม่ร้อยสายไฟในท่อจะทำให้เกิดความเสียหายต่อตัวผลิตภัณฑ์และบ้านได้
ขอบคุณที่มา : บ้านไอเดีย
Comments