top of page
ค้นหา
ssirapastsorn

“เพื่อนบ้าน” ก่อความเดือดร้อนรำคาญ แก้ไขอย่างไร ในทางกฎหมาย


ช่วยด้วย! เพื่อนบ้าน ก่อความเดือดร้อนรำคาญ

เห็นข่าวทะเลาะกันของ เพื่อนบ้าน ที่ถึงขั้นเลือดตกยางออกแล้วหดหู่ใจจริงๆ นับวันตามเนื้อข่าวยิ่งทวีความขัดแย้ง รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

ส่วนตัวก็มีคนมาปรึกษาอยู่บ่อยๆ เรื่องของเพื่อนบ้านก่อความเดือดร้อนรำคาญ โดยเฉพาะเรื่องเสียงดังหรือสัตว์เลี้ยง เป็นต้น เอาเป็นว่าทางกฎหมายมีวิธีจัดการได้ แต่ในทางปฏิบัตินั้นบอกก่อนเลยค่ะว่า เป็นปัญหาโลกแตกเรื่องหนึ่งเลยทีเดียว

ยกตัวอย่างมีผู้อ่านท่านหนึ่งสมมติว่าชื่อคุณเอแล้วกันนะคะ มีที่อยู่อาศัยเป็นทาวเฮ้าส์  เจอปัญหาข้างบ้านมักจะชวนเพื่อนมาสังสรรค์ กินดื่มเเละเปิดเพลงส่งเสียงดัง เมื่อดื่มมากเข้าก็ส่งเสียงดังโหวกเหวกโวยวายเป็นประจำเกือบทุกคืน  ซึ่งคุณเอก็เคยเตือนไปบ้างเเล้ว โดยขอให้ลดเสียงลง เนื่องจากนอนไม่ได้เลย เเต่ข้างบ้านก็ไม่สนใจ เหมือนยิ่งพูดยิ่งยุค่ะ นอกจากจะไม่ลดเสียงลงแล้วยังเสียงดังมากขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย จนเกิดเป็นเรื่องบาดหมางเเละทะเลาะกันรุนแรง คุณเอมาปรึกษาว่า ในทางกฎหมายนั้นจัดการอย่างไรได้บ้าง

โดยปกติเเล้ว ตามกฏหมายเเพ่งเเละพาณิชย์อนุญาตให้บุคคลสามารถใช้สิทธิของบุคคลได้อย่างเต็มที่ภายในขอบเขตของกฎหมาย เเต่หากการใช้สิทธิของตนนั้นมีเเต่ทำให้เกิดความเสียหายเเก่คนอื่น เเก่ชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน หรือสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งของเขา ถือว่าผู้นั้นกระทำละเมิด จำต้องใช้ค่าสินไหมทดเเทนเเก่ผู้เสียหายนั้น ตามประมวลกฏหมายเเพ่งเเละพาณิชย์ มาตรา 420 เเละ 421

ดังนั้นการที่เพื่อนบ้านของคุณเอตั้งใจส่งเสียงดังรบกวน  ก่อความเดือดร้อนรำคาญตลอดจนสร้างความเสียหายต่อสิทธิของคุณเอในการอยู่อาศัยในบ้านเรือนอย่างสงบ เมื่อคุณเอได้ว่ากล่าวตักเตือน เเต่เขาก็ยังคงกระทำการอันเป็นการละเมิดสิทธิของคุณเอต่อไป เขาก็ย่อมต้องรับผิดชอบเยียวยาความเสียหายให้คุณเอได้กลับคืนสู่สภาพเดิม  โดยวิธีการที่เหมาะสมค่ะ การกระทำละเมิดสิทธิดังกล่าวเป็นความผิดทางเเพ่ง เมื่อคุณได้รับความเสียหายย่อมสามารถใช้สิทธิฟ้องร้องต่อศาลเพื่อเรียกร้องให้ข้างบ้านงดการก่อเสียงดังรบกวน ตลอดจนจ่ายค่าสินไหมทดเเทนหากเกิดความเสียหาย โดยจะต้องฟ้องร้องต่อศาลภายใน 1 ปี นับตั้งเเต่รู้ถึงการละเมิด (คือรู้ถึงการส่งเสียงดังรบกวน) เเละรู้ตัวผู้กระทำละเมิด (กรณีนี้คือข้างบ้าน) เเต่ต้องฟ้องร้องภายใน 10 ปี นับตั้งเเต่เกิดเหตุละเมิด (วันเริ่มต้นก่อกวนโดยการส่งเสียงดังรบกวน) นะคะ


นอกจากนี้การที่ข้างบ้านส่งเสียงดังนี้ นอกจากจะเป็นการละเมิดในทางเเพ่งเเล้ว การกระทำดังกล่าวยังเข้าข่ายเป็นความผิดทางอาญา ตามประมวลกฏหมายทางอาญา มาตรา 370 เนื่องจากเป็นการส่งเสียงดังอื้ออึงทำให้ประชาชนเดือดร้อนซึ่งเป็นลักษณะความผิดลหุโทษด้วย ดังนั้นคุณจึงสามารถเเจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อดำเนินคดีอาญากับข้างบ้านได้อีกทาง นอกเหนือจากการฟ้องคดีเเพ่งเพื่อให้งดส่งเสียงดังตามหลักในเรื่องละเมิดด้วยค่ะ

แต่อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติ ดิฉันมีความเห็นว่าควรพูดจากันดีๆ มีความพยายามที่จะประนีประนอมกันให้มากที่สุดจะดีกว่า เพราะหากทะเลาะกันถึงขั้นฟ้องร้องต่อศาลแล้วล่ะก็ สุดท้ายไม่ว่าผลทางคดีจะออกมาเป็นอย่างไร จะชนะหรือแพ้ มิตรภาพก็คงไม่เหลือ และอาจทำให้เกิดปัญหาอื่นๆตามมาอีกแน่นอน


ขอบคุณที่มา: บ้านและสวน

ดู 44 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page