top of page
ค้นหา
  • ssirapastsorn

เช็คลิสต์บ้านที่ต้อง “สน” เมื่อน้อง “ฝน” มาเยือน


โดยปกติแล้วในแต่ละฤดูกาลก็มักมีเรื่องที่ควรระมักระวังแตกต่างกันไป สำหรับในฤดูฝนเองก็เช่นกัน ซึ่งหากใครมีแพลนตกแต่งภายนอกบ้านก็คงต้องจัดการเรื่องเวลาให้ดีด้วย เพราะฝนอาจเป็นอุปสรรคทำให้การดำเนินการต่าง ๆ ต้องล่าช้าลงไป อีกทั้งน้ำฝนยังสามารถก่อให้เกิดความเสียหายเพิ่มขึ้น ทั้งปัญหาเปียก รั่ว ผุ หรือแม้แต่การกัดกร่อน สำหรับคนที่อยู่ในเขตเมืองก็จะเจอสารเคมีต่าง ๆ ปะปนมากับน้ำฝนได้เช่นกัน ควรทำเช็คลิสต์เพื่อความปลอดภัยของคนในบ้านเป็นการป้องกันไว้ดีกว่าแก้

1. สายไฟ

เพราะน้ำคือตัวกลางที่ยอมให้ไฟฟ้าเคลื่อนที่ผ่านได้อย่างรวดเร็ว การไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยงในช่วงฝนตกก็เหมือนกับการพาตัวไปเองไปเสี่ยงจากอันตรายของกระแสไฟฟ้าได้ง่าย ๆ แล้ว ในช่วงนี้อาจต้องสังเกตระบบไฟฟ้าภายในบ้านกันสักหน่อย ตั้งแต่การมองด้วยสายตาว่าสายไฟของเรามีสภาพเก่า ฉนวนลอกชำรุดหรือไม่ สำหรับระบบคัตเอาท์บางประเภทจะสามารถตัดไฟในบ้านโดยอัตโนมัติได้เลยทันทีเมื่อพบการรั่วของกระแสไฟฟ้า

เลือกสายไฟที่มีมาตรฐาน มอก. เพื่อความปลอดภัย

2. รอยรั่วใต้หลังคา

กระเบื้องหลังคาคือจุดที่เกิดความชำรุดได้เมื่อผ่านการใช้งาน เพราะแน่นอนว่าหากพูดถึงน้ำฝนย่อมไม่ใช่แค่น้ำเปล่า ๆ แต่ยังรวมถึงแรงปะทะของเม็ดฝน ลูกเห็บ หรือแม้แต่ความเป็นกรดหรือด่างอ่อน ๆ ตามแต่ละประเภทของสารเคมีที่ปะปนกันมาถ้าหลังคารั่วจนเห็นน้ำหยดลงกลางห้องก็ย่อมเป็นเรื่องง่ายที่เราจะแก้ไขเฉพาะบริเวณนั้นได้ แต่หากน้ำรั่วซึมอยู่เพียงใต้หลังคา เราก็สามารถตรวจเช็คได้โดยสังเกตว่าบนฝ้าเพดานมีคราบชื้นหรือไม่ ได้ยินเสียงคล้ายน้ำไหลอยู่ด้านบนหรือไม่ วิธีที่ทั้งแก้ไขและป้องกันไม่ให้น้ำฝนรั่วซ้ำ ๆ ก็คือการให้ช่างเข้าไปตรวจเช็คต์สภาพหลังคา และอาจมีการเปลี่ยนหลังคาบริเวณที่มีปัญหารวมถึงการฉาบซีเมนต์กันน้ำไปเลย

ซีเมนต์กันซึมที่ทนต่อสภาวะอากาศได้ดีทนรังสี UV

3. รางน้ำฝน

รางน้ำฝนคือจุดระบายน้ำหลักที่ช่วยให้น้ำไหลอย่างเป็นที่เป็นทาง ไม่กระจายจนสร้างปัญหาบานปลายรอบบ้าน แต่เมื่อผ่านมาทุกฤดูกาลก็อาจมีเศษฝุ่นอุดตัน หรือเกิดปัญหาแตกร้าวเพราะเศษสิ่งต่าง ๆ หล่นใส่ก็ได้ ดังนั้นช่วงฤดูฝน ควรหมั่นตรวจสอบว่ารางน้ำฝนอยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน ไม่ทำให้น้ำฝนไหลย้อนเข้าสู่ตัวบ้าน

รางน้ำฝนไวนิลคุณภาพ แข็งแรงทนทาน

4. ต้นไม้ใหญ่รอบบ้าน

บ้านใครเต็มไปด้วยต้นไม่ใหญ่ หรือแม้แต่ไม้ที่มีผลแข็งอย่างต้นพญาสัตบรรณ (ต้นตีนเป็ด) เวลาเกิดฝนตกลงมาก็มักจะหอบเอาลมแรงมาด้วย จนทำให้กิ่งไม้ ผล หรือส่วนต่าง ๆ ของต้นไม้หล่น หักลงมาได้ง่าย ยิ่งช่วงมรสุมในเมืองไทยซึ่งมักจะมีพายุโซนร้อนแวะมาเยี่ยมเยือนด้วยแล้ว หากใครที่ทำสวนเองก็อย่างลืมตัดแต่งกิ่งต้นไม่รอบบ้าน ผลของต้นบางอย่างที่ดูน่าอันตรายควรริดออกให้หมด หรือถ้าใครจ้างคนสวน ก็อย่าลืมกำชับเรื่องนี้เป็นพิเศษด้วย

ตัดกิ่งง่ายด้วยอุปกรณ์อำนวยความสะดวก

5. พื้นบ้าน

ในจุดน้ำขังอย่างพื้นบ้าน ไม่ว่าจะเป็นวัสดุกระเบื้อง หรือปูนซีเมนต์ ก็ก่อให้เกิดความลื่นได้เมื่อเปียกน้ำ และเสี่ยงต่ออุบัติเหตุของคนในบ้านเป็นอย่างยิ่ง แม้บางบ้านอาจเลือกวัสดุปูพื้นแบบกันลื่นกันบ้างแล้ว แต่แน่นอนว่าสำหรับบางบ้านก็คงไม่สามารถรื้อพื้นปูใหม่ได้ทันใจ ดังนั้นวิธีง่าย ๆ ที่พอจะช่วยประหยัดงบได้คือการกำจัดคราบตะไคร่น้ำและเชื้อราที่มักก่อตัวเมื่อมีความชื้น ซึ่งทำให้เรายิ่งลื่นล้มกันได้ง่ายอีก ลองใช้เวลาวันหยุดสุดสัปดาห์มาขัดพื้นทำความสะอาดกันบ้างก็ช่วยลดอันตรายจากอุบัติเหตุได้

กำจัดเชื้อราและตะไคร่แต่ไม่ทำลายพื้นผิว

6. รอยร้าวตามจุดต่าง ๆ

รอยร้าวตามจุดต่าง ๆ ของบ้าน ไม่ว่าจะเป็นผนัง รอยเชื่อมประตูหน้าต่างที่ปล่อยไว้มาทั้งปีแล้ว แต่จะปล่อยให้ผ่านหน้าฝนไปอีกคงไม่เหมาะ เพราะความชื้นเหล่านี้สามารถแทรกซึมผ่านจุดเล็ก ๆ ไปได้ และก่อให้เกิดปัญหาที่หนักกว่านี้ตามมา อย่างน้อยก็ควรใช้ซิลิโคนอุดรอยรั่วไปก่อนเพื่อรอการซ่อมแซม


ซิลิโคนไร้กรด 100% ใช้ยาแนว

7. สัตว์มีพิษ

น้ำมา จะท่วมหรือไม่ท่วม แน่นอนว่าสัตว์มีพิษต้องยกขบวนมากวนใจ ซึ่งอาจมีตั้งแต่ระดับเบา ๆ อย่างแมงเม่า มด ไปจนถึงระดับตัวร้ายอย่างงู ตะขาบ ดังนั้นในฤดูฝนควรหมั่นดูแลสวนเป็นพิเศษ ถ้าไม่สะดวกลุยเองอาจใช้บริการช่างทำสวนรับจ้างเข้ามาถางพื้นที่สวนน้อย ๆ ของคุณให้สะอาดโล่ง และสำหรับบ้านเราที่ลดความเสี่ยงลงแล้ว ก็อาจไม่สามารถไปกำหนดพื้นที่ของเพื่อนบ้านได้ ยิ่งถ้าหันซ้ายหันขวาเห็นสวนเพื่อนบ้านรกรุงรังอยู่แล้วล่ะก็ ลองหาตัวช่วยพิเศษอย่างปูนขาวมาโรยรอบบ้านและตามแนวรั้วกันสักหน่อยดีกว่า

ปูนขาวคู่บ้านราคาประหยัด

แม้หน้าฝนอาจจะพบเรื่องที่ต้องดูแลเป้นพิเศษจุกจิกกันอยู่บ้าง แต่ทำไว้เพื่อความปลอดภัยของคนในบ้านถือเป็นสิ่งสำคัญอันดับหนึ่งเลย ดังนั้นเรามาลองตรวจสอบตามเช็คลิสต์เหล่านี้กันดูเพื่อที่จะได้ไม่พลาดรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ และไม่ทำให้เกิดปัญหาต่อเนื่องไปในอนาคต


ขอบคุณที่มา : บ้านและสวน

ดู 3 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page