top of page
ค้นหา
ssirapastsorn

ต่อเติมบ้านใหม่ ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่หรือเปล่า? เจาะลึก กฎหมายต่อเติมบ้าน


สำหรับผู้ที่กำลังวางแผนต่อเติมบ้าน อาจสงสัยว่า หากต้องการต่อเติมบ้านเพิ่มเล็กน้อย จำเป็นต้องแจ้งเจ้าหน้าที่หรือไม่ ต่อเติมอย่างไรจึงปลอดภัยไม่เกิดปัญหาตามมา บ้านและสวน School มีกฎหมายเกี่ยวกับการต่อเติมบ้านที่ควรรู้มาแนะนำ

การต่อเติมบ้านหรือเปลี่ยนแปลงพื้นที่ใช้สอยในบ้านมีหลากหลายแบบ กฎหมายต่อเติมบ้าน เน้นที่เรื่องของการป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบร้ายแรงต่อโครงสร้างของอาคารเป็นหลัก เพื่อให้เราใช้งานอาคารได้อย่างปลอดภัย ซึ่งกฎหมายมี “ข้อยกเว้น” สำหรับการต่อเติมหรือเปลี่ยนแปลงที่ไม่ต้องขออนุญาตไว้ดังนี้

กฎกระทรวงฉบับที่ 11 (พ.ศ.2528) ว่าด้วยกรณีที่ไม่ถือว่าเป็นการดัดแปลงอาคารจึงไม่ต้องขออนุญาตต่อเติมหรือดัดแปลงอาคารต่อหน่วยงานท้องถิ่น ข้อ 1 การกระทำต่อไปนี้ ไม่ถือเป็นการดัดแปลงอาคาร

1.การเปลี่ยนโครงสร้างของอาคารโดยใช้วัสดุ ขนาด จำนวนและชนิดเดียวกับของเดิม เว้นแต่การเปลี่ยนโครงสร้างของอาคารที่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก คอนกรีตอัดแรงหรือเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ หมายความว่า ถ้าเราเปลี่ยนโครงสร้าง เช่น เสา คาน ฐานราก หลังคาที่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก คอนกรีตอัดแรงหรือเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ เราจะต้องขอหรือแจ้งเจ้าพนักงานเสมอ แม้ว่าขนาด จำนวน วัสดุ หรือชนิดเสา หรือคานที่เป็นโครงสร้างนั้นจะเหมือนเดิมทุกอย่างก็ตาม

แต่หากโครงสร้างเดิมเป็นไม้มีส่วนที่ชำรุด เช่น ปลวกขึ้น ทำให้ไม้ผุ ต้องเปลี่ยนชิ้นไม้ใหม่ถือเป็นการเปลี่ยนที่มีจำนวนและขนาดเท่าเดิม จึงไม่ต้องขออนุญาตต่อหน่วยงานท้องถิ่น

2.การเปลี่ยนแปลงส่วนต่างๆ ของอาคารที่ไม่เป็นโครงสร้างของอาคาร โดยใช้วัสดุชนิดเดียวกับของเดิมหรือวัสดุชนิดอื่นซึ่งไม่เป็นการเพิ่มน้ำหนักให้แก่โครงสร้างของอาคารเดิมส่วนหนึ่งส่วนใดเกินร้อยละ 10

ส่วนที่ไม่เป็นโครงสร้าง เช่น ผนัง พื้น เป็นต้น ในกรณีที่ต้องการเปลี่ยนพื้นจากไม้เป็นหินธรรมชาติหรือเปลี่ยนจากผนังยิปซัมบอร์ดเป็นผนังก่ออิฐฉาบปูน ต้องคำนวณน้ำหนักว่าเพิ่มขึ้นกว่าเดิมเกินร้อยละ 10 หรือไม่ หากเกินก็ต้องยื่นขออนุญาต หากคำนวณน้ำหนักด้วยตนเองไม่ได้จำเป็นต้องให้วิศวกรเข้ามาช่วย เพราะหากน้ำหนักเพิ่มขึ้นมากก็จะทำให้โครงสร้างอาคารต้องรับน้ำหนักเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายภายหลังได้

3.การเปลี่ยนแปลงการต่อเติมการเพิ่ม การลดหรือการขยายซึ่งลักษณะขอบเขต แบบ รูปทรง สัดส่วน น้ำหนัก เนื้อที่ของส่วนต่างๆ ของอาคารที่ไม่เป็นโครงสร้างของอาคาร ซึ่งไม่เป็นการเพิ่มน้ำหนักให้แก่โครงสร้างของอาคารเดิมส่วนหนึ่งส่วนใดเกินร้อยละ 10

ข้อนี้จะคล้ายกับในข้อ 2 เพียงแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงส่วนย่อยๆ เช่น รูปแบบประตู หน้าต่าง รูปแบบฝ้าเพดาน เปลี่ยนลายกระเบื้องพื้นหรือผนัง เป็นต้น ซึ่งไม่จำเป็นต้องยื่นขออนุญาต ถ้ามีน้ำหนักรวมเพิ่มขึ้นไม่เกินร้อยละ 10

4.การลดหรือขยายเนื้อที่ของพื้นชั้นหนึ่งชั้นใดให้มีเนื้อที่น้อยลงหรือมากขึ้น รวมกันไม่เกิน 5 ตารางเมตร โดยไม่ลดหรือเพิ่มจำนวนเสาหรือคาน เช่น การเจาะช่องพื้นเพื่อให้ได้รับแสงมากขึ้นหรือระบายอากาศได้ดีขึ้นในพื้นที่ไม่เกิน 5 ตารางเมตร ก็ไม่ต้องยื่นขออนุญาตต่อหน่วยงานท้องถิ่น

5.การลดหรือการขยายเนื้อที่ของหลังคาให้มีเนื้อที่มากขึ้นรวมกันไม่เกิน 5 ตารางเมตร โดยไม่ลดหรือเพิ่มจำนวนเสาหรือคาน เช่น การต่อเติมหลังคาโดยยื่นจากของเดิม หากเป็นการเพิ่มเนื้อที่ออกไปไม่เกิน 5 ตารางเมตร และไม่ทำให้เสาและคานเดิมต้องรับน้ำหนักเพิ่มเกินร้อยละ10 ก็ไม่ต้องยื่นขออนุญาตเช่นกัน

ข้อ 2 การรื้อส่วนอื่นของโครงสร้างของอาคารดังต่อไปนี้ ถือเป็นการรื้อถอนอาคาร

1.กันสาดคอนกรีตเสริมเหล็ก

2.ผนังหรือฝาที่เป็นโครงสร้างของอาคารหรือผนังหรือฝา คอนกรีตเสริมเหล็ก

3.บันไดคอนกรีตเสริมเหล็ก

4.พื้นคอนกรีตเสริมเหล็กตั้งแต่พื้นชั้น 2 ของอาคารขึ้นไป

ในกรณีที่มีการรื้อส่วนอื่นของโครงสร้างของอาคารตามวรรคหนึ่ง เพื่อกระทำการตามข้อ 1 ในส่วนที่เป็นการดัดแปลงอาคาร มิให้ถือว่าการรื้อถอนอาคารส่วนนั้นเป็นการรื้อถอนอาคาร

หากต้องการต่อเติมบ้าน อย่าลืมศึกษาข้อกฎหมายเหล่านี้ แล้วปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยในการใช้อาคาร และไม่ต้องกังวลว่าจะผิดกฎหมายอีกด้วย

เรื่อง: ศุภชัย ทรงแสงธรรม

ภาพ: แฟ้มภาพนิตยสารบ้านและสวน นิตยสาร Room

ดู 72 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comentarios


bottom of page