เลือกฉนวนกันร้อนให้หลังคาเมทัลชีท
เป็นปัญหาที่ถูกสอบถามกันมาบ่อยครั้ง ถึงคุณภาพของฉนวนกันความร้อนที่ติดมาให้พร้อมกับแผ่นหลังคาเมทัลชีทหรือที่นิยมเรียกกันว่า “หลังคาเมทัลชีทแบบแซนวิช” ซึ่งส่วนใหญ่ที่มีปัญหาจะเป็นแซนวิชปลอมที่มีขนมปังเพียงด้านเดียว เมื่อใช้งานในระยะเวลาประมาณ 3-5 ปี แผ่นฟอยล์ที่หุ้มฉนวนจะค่อย ๆ ลอกและหลุดล่อนในระยะเวลาต่อมา ส่งผลให้บ้านดูไม่สวยงามและประสิทธิภาพของการป้องกันความร้อนหายไป
บทความนี้ “บ้านไอเดีย” พาไปวิเคราะห์ถึงสาเหตุของปัญหา พร้อมกับแนะนำวิธีแก้ไขเบื้องต้นและหากท่านใดที่ยังไม่ติดตั้ง กำลังหาข้อมูลการเลือกใช้ฉนวนกันความร้อนให้กับหลังคาเมทัลชีท ท้ายเนื้อหามีแนวทางการเลือกฉนวนกันความร้อนชนิดต่าง ๆ มาให้พิจารณาเลือกกันครับ
สนับสนุนโดย : BlueScope Thailand ผู้เขียน : อภิสิทธิ์ สุธาประดิษฐ์
ปัญหาฉนวนเมทัลชีทหลุดล่อน
ฉนวนกันความร้อนที่ติดตั้งมาพร้อมกับหลังคาเมทัลชีท ปัจจุบันมีให้เลือกใช้งาน 2 ชนิดครับ ฉนวนกันร้อน PU และฉนวนกันร้อน PE วิธีสังเกตง่าย ๆ ว่าหลังคาของเราติดตั้งด้วยฉนวนชนิดใด ให้ดูความหนาของฉนวน หากมีความหนาประมาณ 3-5 เซนติเมตรจะเป็นฉนวนโฟม PU แต่หากมีความหนาเพียง 0.5-1 เซนติเมตร เป็นฉนวนชนิด PE ครับ โดยฉนวนกันความร้อนที่พบปัญหาหลุดล่อนบ่อยที่สุดคือฉนวนชนิด PE แต่เจ้าของบ้านส่วนใหญ่อาจจะแยกชนิดฉนวนไม่ออก จึงมักเหมารวมว่าหลังคาเมทัลชีทมีปัญหาฉนวนหลุดล่อนทั้งหมด
เพราะเหตุใดฉนวน PE จึงหลุดล่อนง่าย
หลังคาเมทัลชีทเป็นวัสดุประเภทโลหะ ส่วนฉนวนกันความร้อนเป็นวัสดุประเภทโฟม วัสดุทั้ง 2 ชนิดนี้เนื้อสัมผัสต่างชนิดกัน เมื่อต้องการนำมาใช้งานร่วมกันจำเป็นต้องติดกาวประสานเพื่อให้กาวยึดเกาะแน่นได้ หากทางผู้จำหน่ายหลังคาเมทัลชีทใช้กาวคุณภาพต่ำ ย่อมส่งผลให้คุณภาพกาวหมดอายุไว และจากการสำรวจข้อมูลพบว่า เมทัลชีทแซนวิชสมัยก่อนทางผู้ผลิตใช้วิธีติดตั้งฉนวนกันร้อน PE ด้วยแรงงานคน ซึ่งมาตรฐานงานของแต่ละคนนั้นอาจมีความแตกต่างกัน การเลือกซื้อเมทัลชีทที่ผ่านการติดตั้งฉนวนโดยเครื่องจักรภายในโรงงานที่ได้มาตรฐาน จะได้คุณภาพงานที่ดีกว่ามาก
แก้ไขเบื้องต้นอย่างไร
แนวทางการแก้ไขปัญหาฉนวนเมทัลชีท PE หลุดล่อนจะขึ้นอยู่กับอาการครับ หากเพิ่งเริ่มลอกล่อนและเจ้าของบ้านยังไม่พร้อมที่จะซ่อมแซม สามารถใช้กาวชนิดติดพื้นรองเท้ามาซ่อมแซมเบื้องต้นได้ และให้ป้องกันโดยการติดแปเหล็กที่มีความถี่ซ้อนไว้อีกชั้นเพื่อป้องกันไม่ให้ฉนวนหลุดเพิ่มไปจากเดิม แต่หากแผ่นฉนวนหลุดมากแล้ว แนะนำให้ช่างทำการลอกแผ่นฉนวนเดิมออกให้หมดเพื่อเลือกติดตั้งฉนวนแบบอื่น ๆ ทดแทน
3 ตัวเลือกฉนวนกันร้อน
อย่าเพิ่งเข้าใจผิดคิดว่าฉนวนกันร้อนทั้ง PU และ PE จะหลุดได้ง่ายทุก ๆ กรณีนะครับ การชำรุดหลุดล่อนมักเกิดจากคุณภาพวัสดุที่ต่ำกว่ามาตรฐาน หากเป็นเมทัลชีทแบรนด์ที่เชื่อถือได้ มีมาตรฐานต่าง ๆ รองรับชัดเจนจะไม่ค่อยพบปัญหา แต่หากเป็นเมทัลชีทราคาถูกจากโรงงานทั่วไปที่ไม่ได้ผ่านการรองรับมาตรฐานใด ๆ ย่อมเจอปัญหาเหล่านี้ได้ การเลือกซื้อเมทัลชีทจึงควรเลือกซื้อรุ่นหรือแบรนด์ที่เชื่อถือได้ ซึ่งแน่นอนว่ามีต้นทุนราคาที่สูงกว่าแต่คุ้มค่าในระยะยาว
เมทัลชีทกับฉนวนกันความร้อน PE
หากเทียบคุณภาพการป้องกันความร้อนและป้องกันเสียง ฉนวน PE จะป้องกันได้น้อยกว่าฉนวนอื่น ๆ ฉนวนดังกล่าวจึงเหมาะเฉพาะการใช้งานบางส่วน เช่น หลังคาโรงจอดรถ, หลังคาซักล้าง, หลังคาระเบียงหรือส่วนต่อเติมต่าง ๆ และควรเลือกชนิดติดตั้งแยก โดยแยกซื้อเมทัลชีทกับฉนวนกันร้อน PE ออกจากกัน โดยให้ช่างทำแปเหล็กที่มีความถี่พร้อมติดตั้งฉนวนในแนวขวางแป จากนั้นทำการยึดฉนวนด้วยสกรูรองแหวน การติดตั้งแบบดังกล่าวจะมั่นคงแข็งแรงกว่ากาวมากครับ และหากฉนวน PE เสื่อมในอนาคตจะสามารถเปลี่ยนใหม่แยกแผ่นได้จึงสะดวกและประหยัดกว่าหากต้องซ่อมแซมภายหลัง
เมทัลชีทกับฉนวนกันความร้อน PU
หากต้องการเลือกเมทัลชีทแบบแซนวิช แนะนำให้เลือกฉนวนกันร้อนชนิด PU จะป้องกันความร้อน ป้องกันเสียงรบกวนได้ดีกว่า PE และเหมาะกับการใช้งานร่วมกับหลังคาหลักของบ้านหรือส่วนต่อเติมต่าง ๆ โดยแนะนำให้เลือกฉนวนรุ่นหนาสุดเท่าที่รุ่นดังกล่าวจะมีให้เลือก เพราะโดยปกติหลังคาเมทัลชีทจะมีคุณสมบัตินำความร้อนสูง การเลือกฉนวนที่มีคุณภาพสูงมีความสำคัญไม่แพ้ไปจากเมทัลชีทที่มีคุณภาพสูงครับ เลือกคุณภาพดีไว้ตั้งแต่ต้นย่อมคุ้มค่ากว่าในระยะยาว และนอกจากฉนวน PU ลักษณะแผ่นโฟมแล้ว ปัจจุบันยังมี PU ชนิดพ่นไว้เป็นอีกหนึ่งตัวเลือก การพ่นจะติดฝังแน่นได้ดี ส่วนคุณภาพด้านการป้องกันความร้อนขึ้นอยู่กับความหนาของฉนวนครับ
เมทัลชีทกับฉนวนกันความร้อนใยแก้ว
หากเทียบประสิทธิภาพและความสะดวกในการติดตั้งรวมทั้งการดูแลรักษาในระยะยาวแล้ว ฉนวนใยแก้วจัดเป็นตัวเลือกที่คุ้มค่ากว่าฉนวนชนิดอื่น ๆ การติดตั้งฉนวนใยแก้วจะเป็นการติดตั้งแยกจากแผ่นหลังคา โดยช่างจะทำการปูฉนวนไว้บนโครงฝ้าเพดานครับ ห้องที่สามารถติดตั้งฉนวนประเภทนี้ได้จึงต้องทำฝ้าเพดานก่อนเท่านั้น และควรมีระยะโถงหลังคาที่สูงเพียงพอต่อการติดตั้ง โดยให้มีความสูงประมาณ 40 เซนติเมตรขึ้นไป ส่วนการเลือกซื้อฉนวนใยแก้วหากงบประมาณเพียงพอแนะนำให้เลือกซื้อที่ขนาดความหนามาก ยิ่งหนาจะยิ่งกันความร้อนได้ดีขึ้นและควรเลือกประเภทที่มีการห่อหุ้มไว้อย่างดี เพื่อป้องกันไม่ให้เศษฝุ่นจากฉนวนเล็ดลอดออกมาได้
ฉนวนทั้ง 3 ชนิดที่แนะนำในเนื้อหานี้ เป็นเพียงตัวเลือกที่ได้รับความนิยมเท่านั้นครับ ทั้งนี้การเลือกติดตั้งฉนวนอาจไม่จำเป็นต้องเลือกเพียงชนิดใดชนิดหนึ่ง ตัวอย่างบ้านบางหลังที่ผู้เขียนเคยทำงานออกแบบให้ เจ้าของบ้านเป็นห่วงเรื่องความร้อนและเสียงรบกวนเป็นพิเศษ จึงสั่งซื้อเมทัลชีทแบบแซนวิชที่มีฉนวน PU ติดตั้งมาให้ พร้อมกับติดตั้งฉนวนใยแก้วบนฝ้าเพดานอีกชั้น วิธีนี้นอกจากจะช่วยให้บ้านเย็นขึ้นมาแล้ว ยังช่วยแก้ปัญหาเสียงดังรบกวนขณะฝนตกได้ดีมากอีกด้วยครับ
ขอบคุณที่มา : บ้านไอเดีย
Comments