การขออนุญาตก่อสร้าง
บ้านแบบไหน ไม่ต้องมีสถาปนิกและวิศวกรเซ็นรับรองแบบ
เป็นปัญหาที่ถกเถียงกันบ่อยครั้งเกี่ยวกับการขออนุญาตก่อสร้างบ้านในเขตพื้นที่ที่มีการควบคุม ทั้ง อบต. เทศบาล หรือเขตการปกครองอื่น ๆ โดยบ้านที่สามารถขออนุญาตก่อสร้างได้ จะต้องเป็นไปตาม พรบ.ควบคุมอาคารกำหนดไว้ ซึ่งจะกำหนดขอบเขตต่าง ๆ ไว้ครอบคลุมทั้งหลัง ไม่ว่าจะเป็น ระยะร่น, รั้วกำแพง, ทางเดินภายในบ้าน, ขนาดห้องน้ำ, บันไดบ้าน รวมทั้งส่วนโครงสร้างต่าง ๆ และอาคารแต่ละประเภทมีกฎในการควบคุมที่แตกต่างกัน แต่ปัญหาที่ถูกถามเข้ามาบ่อยครั้งที่สุด คือการขออนุญาตก่อสร้าง แบบไหนจำเป็นต้องมีแล้วแบบไหนที่ พรบ.ควบคุมอาคารไม่ได้บังคับให้มี เนื้อหาชุดนี้มีคำตอบให้ครับ
ก่อนอื่นต้องแจ้งให้ผู้อ่านทราบก่อนว่า เนื้อหาชุดนี้ไม่ได้เป็นข้อมูลที่เป็นมาตรฐานกลาง เนื่องจากเขตการปกครองบางแห่งจะมีกฎหมายเฉพาะที่ใช้เฉพาะพื้นที่นั้น ๆ รวมทั้งเทศบาลบางแห่งอาจแตกต่างไปจากเทศบาลอื่น ๆ เนื้อหาชุดนี้จึงเป็นข้อมูลจาก พรบ.ควบคุมอาคาร เป็นไปตามกฎหมายบัญญัติไว้ รวมทั้งข้อมูลจากประสบการณ์ผู้ที่เคยขออนุญาตก่อสร้าง รวมทั้งข้อมูลจากการสำรวจเทศบาลส่วนหนึ่งเท่านั้น โดยบ้านที่สามารถขออนุญาตได้โดยไม่ต้องมีวิศวกรและสถาปนิกเซ็นแบบรับรองในเทศบาลส่วนใหญ่ มีรายละเอียดดังนี้
เนื้อหา : อภิสิทธิ์ สุธาประดิษฐ์
แบบบ้านขออนุญาตก่อสร้างได้ ไม่ต้องมีวิศวกร สถาปนิกเซ็นแบบ
1. บ้าน 1-2 ชั้น พื้นที่ใช้สอยไม่เกิน 150 ตร.ม. ขออนุญาตก่อสร้างได้
อ้างอิง : กฎกระทรวงฉบับที่ 56 (พ.ศ.2543)ฯ ที่กำหนดไว้ดังนี้
“การขออนุญาตก่อสร้างอาคาร ดัดแปลงอาคาร รื้อถอนอาคาร หรือเคลื่อนย้ายอาคารที่อยู่ในเขตองค์การบริหารส่วนจังหวัด เฉพาะในเขตสภาตำบลหรือเขตองค์การบริหารส่วนตำบล แต่มิได้อยู่ในบริเวณพื้นที่ที่มีกฎกระทรวงหรือข้อบัญญัติท้องถิ่น กำหนดการตาม มาตรา 8 (10) หรือประกาศกระทรวงมหาดไทยที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยออกตาม มาตรา 13 ใช้บังคับ ถ้าเป็นอาคารดังต่อไปนี้ ให้แนบเฉพาะแผนผังบริเวณแสดงที่ตั้งอาคารโดยสังเขปและสำเนาเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินพร้อมกับคำขอ”
อาคารอยู่อาศัยไม่เกินสองชั้นและมีพื้นที่ทุกชั้นในหลังเดียวกันรวมกันไม่เกิน 150 ตารางเมตร
นั่นหมายถึงบ้านพักอาศัย มีพื้นที่ไม่เกิน 2 ชั้น และพื้นที่ใช้สอยรวมกันไม่เกิน 150 ตารางเมตร เป็นลักษณะที่ทางกฎหมายอนุญาต ไม่จำเป็นต้องมีสถาปนิกและวิศวกรเซ็นรับรองครับ ส่วนการคุมงานก่อสร้างนั้น เจ้าของบ้านสามารถเซ็นควบคุมงานเองได้ แต่หากพื้นที่ใช้สอยเกิน 150 ตร.ม. แต่ไม่เกิน 2 ชั้น ให้มีสถาปนิกเซ็นรับรองก็เพียงพอ ไม่จำเป็นต้องมีวิศวกรเซ็นรับรอง
นอกจากพื้นที่ใช้สอยแล้วการออกแบบโครงสร้างทางวิศวกรรมมีผลต่อการขออนุญาตเช่นกัน โดยกฎหมายได้ระบุไว้ว่า บ้านหรืออาคารดังกล่าวนี้ ต้องเข้าข่ายให้มีวิศวกรรออกแบบและควบคุมงาน
อาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 3 ชั้นขึ้นไป หรือโครงสร้างของอาคาร ชั้นใดชั้นหนึ่งสูงตั้งแต่ 4 เมตร หรือมีช่วงคานตั้งแต่ 5 เมตรขึ้นไป
ผู้เขียนขอแยกอธิบายรายละเอียดตามข้อ 2 และ 3 ดังนี้
2. ช่วงคานต้องไม่ถึง 5 เมตร วิศวกรไม่ต้องเซ็นก็ขออนุญาตก่อสร้างได้
โดยปกติหากเป็นบ้านเรือนทั่วไปนิยมออกแบบช่วงคานประมาณ 4 เมตร ซึ่งเป็นขนาดมาตรฐานที่ช่างส่วนใหญ่เข้าใจกระบวนการก่อสร้างดี กฎข้อดังกล่าวจึงตั้งมาเพื่อป้องกันความปลอดภัยด้านโครงสร้าง เพราะหากช่วงคานยาวมากกว่านี้หากผู้ก่อสร้างไม่มีความรู้ด้านวิศวกรรมอาจส่งผลให้เกิดอันตรายได้ โดยกฎหมายได้ระบุไว้ว่า หากช่วงคานยาว 5 เมตรขึ้นไปต้องมีวิศวกรออกแบบและคุมงาน
3. ช่วงความสูงชั้นใดชั้นหนึ่งไม่ถึง 4 เมตร ขออนุญาตก่อสร้างได้
สำหรับบ้านเรือนทั่วไป นิยมออกแบบให้พื้นจรดฝ้าเพดานมีความสูงประมาณ 2.6-3 เมตร แต่อาจมีบ้านลักษณะพิเศษ เช่น บ้านชั้นครึ่ง, บ้านที่มีความสูงโปร่ง หากพื้นที่ใด ๆ ที่มีความสูงตั้งแต่ 4 เมตรไปต้นไป จะต้องมีลายเซ็นรับรองจากวิศวกรออกแบบและควบคุมงาน
ทั้ง 3 ข้อที่กล่าวมานี้ หากบ้านของผู้อ่านเข้าข่ายข้อใดข้อหนึ่งจะต้องมีวิศวกรเซ็นรับรองเสมอ แต่หากไม่ตรงกับข้อใด ๆ เช่น บ้านชั้นเดียวมีพื้นที่ใช้สอย 145 ตร.ม. ช่วงคาน 4 เมตร สูง 3.5 เมตร ลักษณะนี้ไม่จำเป็นต้องมีวิศวกรและสถาปนิกเซ็นรับรอง นอกจากนี้ทีมงานบ้านไอเดียได้ออกสำรวจเทศบาลตัวอย่างทั้งหมด 15 แห่ง ใน 5 จังหวัด เทศบาล 14 แห่งในหลักการเดียวกับบทความชุดนี้ มีเพียงแห่งเดียวที่ยืนยันว่าต้องมีลายเซ็นสถาปนิกและวิศวกรเซ็นรับรองเท่านั้น โดยเจ้าหน้าที่ให้คำตอบว่ามาตรฐานที่นี่แตกต่างจากที่อื่น ๆ ทางทีมงานจึงถามต่อไปว่าเพราะเหตุใด เจ้าหน้าที่ไม่มีคำตอบให้ ได้แต่บอกว่าที่นี่ต้องการลายเซ็น
ในมุมมองของผู้เขียนเอง พรบ.ควบคุมอาคารและกฎหมายต่าง ๆ ล้วนออกมาเพื่อช่วยป้องกันด้านความปลอดภัยทั้งการก่อสร้างและการอยู่อาศัย ซึ่งโดยปกติกระบวนการออกแบบจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีสถาปนิกรวมทั้งวิศวกรคำนวณโครงสร้าง แต่สำหรับบ้านหลังเล็กซึ่งมีความเสี่ยงน้อย กฎหมายมีความยืดหยุ่นและมีข้อยกเว้นให้ โดยบ้านในลักษณะดังกล่าวเป็นบ้านที่ช่างทั่วไปสามารถเรียนรู้ได้ตามประสบการณ์และภูมิปัญญา ส่วนนี้เองเป็นการเปิดโอกาสให้ชาวบ้านที่ต้องการสร้างบ้านหลังเล็กและต้องการประหยัดงบด้านการออกแบบ สามารถสร้างบ้านเพื่อการอยู่อาศัยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย นับเป็นสิ่งที่เหมาะสมดีแล้วครับ
สรุป ตัวอย่างการขออนุญาตแบบบ้านแต่ละประเภท
1.กรณีบ้าน 1-2 ชั้น พื้นที่ใช้สอยไม่เกิน 150 ตร.ม. คานทุกจุดยาวไม่เกิน 5 เมตร ไม่มีชั้นไหนสูงเกิน 4 เมตร ไม่จำเป็นต้องมีวิศวกรและสถาปนิกเซ็นแบบรับรอง
2.กรณีบ้าน 1-2 ชั้น พื้นที่ใช้สอยเกิน 150 ตร.ม. คานทุกจุดยาวไม่เกิน 5 เมตร ไม่มีชั้นไหนสูงเกิน 4 เมตร จำเป็นต้องมีสถาปนิกเซ็นแบบ ส่วนวิศวกรไม่จำเป็น
3.กรณีบ้าน 1-2 ชั้น พื้นที่ใช้สอยไม่เกิน 150 ตร.ม หากมีคานจุดใดจุดหนึ่งยาวเกิน 5 เมตร หรือมีชั้นใด ชั้นหนึ่งสูงเกิน 4 เมตร จะต้องมีวิศวกรเซ็นแบบ ส่วนสถาปนิกไม่จำเป็น
4.กรณีบ้าน 1-2 ชั้น พื้นที่ใช้สอยเกิน 150 ตร.ม หากมีคานจุดใดจุดหนึ่งยาวเกิน 5 เมตร หรือมีชั้นใด ชั้นหนึ่งสูงเกิน 4 เมตร หรือสูง 3 ชั้นขึ้นไป จะต้องมีวิศวกรและสถาปนิกเซ็นแบบ
อ้างอิง
พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522กฎกระทรวงกำหนดวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม พ.ศ. 2549 ออกตามพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. 2543กฎกระทรวงกำหนดวิชาชีพวิศวกรรมและวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม พ.ศ. 2550 ออกตามพระราช บัญญัติวิศวกร พ.ศ. 2542 ขอบคุณที่มา : บ้านไอเดีย
コメント